วันสุนทรภู่

พระสุนทรโวหาร (นามเดิม “ภู่”) หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า “สุนทรภู่” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ที่บริเวณด้านเหนือของ “พระราชวังหลัง” หรือบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น ในวัยเด็ก สุนทรภู่อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ ในสำนักพระภิกษุที่มีชื่อเสียง สำนักชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม) และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนัก (หรือผู้ทำหน้าที่ทางหนังสือในราชสำนัก) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี “สุนทรภู่” ไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นนามแฝงที่เกิดจากการนำคำว่า “สุนทร” ในชื่อบรรดาศักดิ์ “ขุนสุนทรโวหาร” ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มารวมกับชื่อจริงว่า “ภู่”

                สุนทรภู่มีใจรักรักด้านกาพย์กลอนและเป็นกวีที่มีความชำนาญทางการประพันธ์เป็นอย่างยิ่ง โดยอาจเป็นผลมากจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่มีโอกาสได้ซึมซับความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรม และศิลปะการแสดงต่าง ๆ ในพระราชวังหลัง สุนทรภู่หมั่นเพิ่มพูนประสบการณ์ในการประพันธ์ด้วยการรับจ้างแต่งเพลงและบทกลอนมากมายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและคารมที่คมคาย สุนทรภู่จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกวี และมีชื่อเสียงมากขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 สุนทรภู่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “พระสุนทรโวหาร” เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตในปี พ.ศ. 2398 ขณะที่อายุ 69 ปี และเนื่องจากสุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่จึงได้รับสมญานามว่า “กวีสี่แผ่นดิน

ผลงานทั้งหมดของสุนทรภู่ (ตามที่มีหลักฐานปรากฏ)

  • นิราศ - นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศสุพรรณ, นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, รำพันพิลาป, นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร
  • นิทานกลอน - โคบุตร, พระอภัยมณี, พระไชยสุริยา, ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ
  • สุภาษิต - สวัสดิรักษา และเพลงยาวถวายโอวาท
  • บทละคร - อภัยนุราช
  • บทเสภา - ขุนช้างขุนแผน และเสภาพระราชพงศาวดาร
  • บทเห่กล่อมพระบรรทม - เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร, เห่เรื่องจับระบำ และเห่เรื่องกากี

ที่มา: https://www.twinkl.co.th/teaching-wiki/sunthr-phu