วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 วันภาษาไทยแห่งชาติ

ทาง โรงเรียน จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ บูรณาการ สัปดาห์ห้องสมุด เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม 2566

ประวัติความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ.1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ "ลายสือไทย" ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่างๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น "อักษรไทย" ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ" และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ

  • เฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงห่วงใยในภาษาไทย ได้พระราชทานแนวคิดต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทย
  • ปลูกฝังให้คนไทยเห็นความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเอกลักษณ์ทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป
  • ยกระดับมาตรฐานการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับชั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
  • เปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาประจำชาติ รวมถึงเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ